วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

การแต่งงาน...บทสรุปของความรัก จริงหรือ ?



การแต่งงานแบบไทย มีขั้นตอนมากมายโดยเริ่มจากคนสองคนรักกัน หรือผู้ใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมกัน จะเริ่มจาก การสู่ขอโดยมีพิธีการสู่ขอ และถ้าสำเร็จจะมีการแจ้งผลการสู่ขอ ถ้าหากว่าตกลงแต่งงานต่อไปคือการปลูกเรือนหอ มีการหมั้นเกิดขึ้นและต้องมีสินสอดทองหมั้นที่สมฐานะของทั้งสองฝ่าย

การผิดสัญญาหมั้น โดยอาจเกิดจากฝ่ายได้ฝ่ายหนึ่ง
หากฝ่ายชายผิดสัญญาไม่มาทำการแต่งงานตามวันเวลาที่กำหนด ทำให้ฝ่ายหญิงเป็นหม้ายขันหมาก ฝ่ายชายจะต้องถูกริบสินสอด ทองหมั้น จะเรียกร้องคืนไม่ได้ หากฝ่ายหญิงผิดสัญญา คือไม่ยอมแต่งงานกับฝ่ายชายด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องคืนสินสอดทองหมั้นทั้งหมดแก่ฝ่ายชาย ด้วยเหตุนี้เฒ่าแก่อาจต้องจดบันทึกรายการของหมั้นเอาไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่นิยมเพราะเหมือนกับว่าไม่ไว้ใจกัน หากว่าไม่มีข้อขัดข้องในขั้นตอนของการหมั้น ต่อไปคือการหาฤกษ์ยามการแต่งงาน การแต่งแบบไทยจะต้องมีพิธีตักบาตรเช้า พิธีรดน้ำสังข์ การกินเลี้ยงฉลองสมรสมรส พิธการปูที่นอนและส่งเจ้าสาวเป็นอันเสร็จพิธี

การแต่งงานจะมีขั้นตอนมากมายอย่างไร หากสองฝ่ายไม่มีความอดทนในพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของอีกฝ่ายได้ ปัญหาในครอบครัวก็จะตามมา แม้จะมีข้อผูกมัดในเรื่องต่างๆ เช่น มีลูกด้วยกัน มีธุรกิจร่วมกัน ฝากเงินหรือมีทรัพย์สินร่วมกัน ไม่มีสิ่งใดมารับประกันได้ว่าคนสองคนจะต้องทนอยู่ด้วยกันไปจนตาย การหาทางออกของปัญหาครอบครัวจึงมีอยู่หลายวิธี

""การหย่าร้าง"อาจเป็นทางออกหนึ่งของชีวิตคู่ คนเราหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่อย่างนี้ควรที่จะรู้ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร แม้อาจเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกล่าวขึ้นมา แต่ผลประโยชน์ที่อาจส่งผลต่อนาคตของแต่ละคนจึงควรที่จะเรียนรู้อย่างรอบครอบไว้ก่อน

เมื่อแต่งงานกันแล้ว ทรัพย์สินในครอบครัวจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.ส่วนที่เป็นสินสมรส (เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน มีส่วนแบ่งกันคนละครึ่ง)
2.ส่วนที่เป็นสินส่วนตัว (เป็นทรัพย์สินของส่วนบุคคลที่อีกฝ่ายไม่สามารถแตะต้องได้) ฉะนั้น ควรรู้ว่าอย่างไหนที่จะส่วนตัว อย่างไหนที่จะร่วมกันกับสามีหรือภรรยาตามกฏหมาย

“สินสมรส” คือ ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส และบรรดาที่เป็นสินส่วนตัวด้วย ส่วนสินส่วนตัวนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนสมรส หรือบรรดาที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหลาย จนถึงเครื่องประดับตามฐานะ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพแต่หลายคนก็ไม่รู้ว่านอกจากนั้นแล้ว กฎหมายยังขยายความถึงทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสที่มีคนยกให้หรือได้มรดกมาด้วย แต่ถ้ายกให้หรือเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุว่าให้เป็นสินสมรส ก็ต้องเป็นสินสมรส

"สินส่วนตัว" คือ ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนการสมรสทั้งหมด หรือทรัพย์สินที่บิดามารดาของแต่ละฝ่ายให้มาในระหว่างสมรส เช่นบิดามารดาได้มอบบ้านและที่ดินให้ด้วยความเสน่หา แน่นอนว่าทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นสินส่วนตัวแน่นอนที่สุด แต่หากว่ามีการระบุว่ายกให้เป็นสินสมรส และมีจดทะเบียนการให้ที่สำนักงานที่ดินและต้องระบุชื่อผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอย่างชัดเจนว่าจะให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคน ทรัพย์สินนั้นจะเป็นสินสมรสในทันที

ตัวอย่าง นายเก่งเกินชายทำงานอยู่ที่บริษัทตัวแทนซื้อขายที่ดิน จึงทำให้เห็นช่องทางในการทำเงินจากโอกาสนี้ นายเก่งเกินชายจึงได้ทำการซื้อที่ดินเก็บเพื่อเก็งกำไร โดยที่ทางภรรยาทราบเพียงว่าสามีของตนนั้นมีที่ดินบ้างแต่ไม่ทราบว่ามีมากเท่าใด และตัวนายเก่งเกินชายได้มีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นเจ้าบ้านและมีเพียงเขาเป็นผู้มีรายชื่อในนั้น (ภรรยาและลูกอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่อื่น เนื่องจากมีบ้านหลายหลัง) นายเก่งเกินชายจึงสามารถทำการซื้อที่ดินโดยที่ไม่ต้องขอความยินยอมจากภรรยา และถือว่าการซื้อที่ดินนั้นเป็นการทำให้ทรัพย์ในครอบครัวมีมากขึ้น แต่กฏหมายกำหนดไว้ว่า การขายที่ดินควรได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน แต่ในกรณีนายเก่งเกินชายได้แจ้งว่าเป็นโสด(เพราะกฏหมายไทย ให้สุภาพบุรุษใช้คำนำหน้านามว่า "นาย" ตลอดชีพ ทำให้ตรวจสอบยากกว่า สุภาพสตรี ที่ต้องเปลี่ยนคำนำหน้านามในสมัยที่ผ่านมา) หากมีผู้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ การแจ้งความเท็จย่อมมีความผิดทางอาญาแน่นอน ทางสำนักงานที่ดินจะให้ความสำคัญทางเอกสารของคู่สมรสมากกว่าเมื่อมีการขายที่ดินและมีการตรวจสอบที่ค่อนข้างมาก

ตัวอย่าง นางอยู่เย็นเป็นสุขแต่งงานกับนายมั่งมี ทั้งคู่เป็นคนที่มีฐานะเดิมที่ดีอยู่แล้วและมีหน้าที่การงานมั่งคง นางอยู่เย็นเป็นสุขจึงมีเงินเหลือใช้พอสมควรในแต่ละเดือน ด้วยว่าราคาทองคำได้ขยับตัวขึ้นอยู่ตลอดเวลาเธอจึงดำริที่จะลงทุนซื้อทองคำแท่งเพื่อเป็นการลงทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ความรักจืดจางไปเกิดการหย่างร้างขึ้น ทองคำแท่งที่มีอยู่จำนวนมากจึงถูกฝ่ายนายมั่งมีอ้างว่าเป็นสินสมรสและควรมีการแบ่งกัน เมื่อเรื่องถึงที่สุดทองคำแท่งซึ่งศาลถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีราคา เป็นส่วนที่ได้มาในระยะเวลาที่แต่งงานอยู่ร่วมกัน และไม่สามารถถือได้ว่าเป็นสินส่วนตัว เพราะทองคำเหล่านี้มิใช่เครื่องประดับ เป็นการซื้อเพื่อการทำกำไรในภายหลังจึงเห็นสมควรให้มีการแบ่งทรัพย์สินนี้ แต่หากอยากให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวแล้วนางอยู่เย็นเป็นสุขจะต้องซื้อทองคำรูปพรรณเพื่อใช้สอยประดับตัวตามสมควรแก่ฐานะ ทรัพย์สินนี้จึงจะถือเป็นทรัพย์ส่วนตัวไม่สามารถแบ่งได้


ตัวอย่าง กรณีที่สามีมีภรรยาหลายบ้าน และถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินขอให้จัดการให้สามีเซ็นยินยอมในการซื้อที่ดิน ถ้าหย่าก็ต้องเอาใบหย่ามา ถ้าเป็นหม้ายก็เอามรณบัตรมา ซึ่งตามกฎหมายแล้ว การซื้อที่ดินไม่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรส โดยอาจเป็นระเบียบภายในที่ทำกันไว้ในยุคที่ใช้กฎหมายเก่า อย่างไรก็ดีในการขายที่ดินจำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเสียก่อน (ซึ่งกำหนดให้ภรรยาไม่มีความสามารถทำนิติกรรมถ้าสามีไม่อนุญาต) สมมุติว่าว่าสามีงุบงิบซื้อที่ดิน หรือมีการโยกบัญชีซุกหุ้นที่ซื้อมาให้ภรรยาน้อยแล้ว หากภรรยาหลวงจำได้เธอก็ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเอาทรัพย์สินคืนได้ เพราะถือว่าสามีได้ใช้สินสมรส (เงินที่หามาได้ในระหว่างแต่งงาน)ซื้อทรัพย์สินนั้น แม้ว่าจะมีการแจ้งต่อนายทะเบียนที่ดินเป็นชื่อของภรรยน้อยก็ตาม

เป็นอย่างไรบ้างค่ะภรรยาสมัยใหม่ต้องมีความรู้เรื่องกฏหมายให้รู้เท่าทันคู่สมรสของคุณ เผื่อว่าจะได้ไม่ต้องตกยุค และโดนหลอกเอาได้ง่ายๆ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล weddinginlove

2 ความคิดเห็น:

  1. คุณผู้หญิง ๆ ทุกท่านอ่านแล้วบอกต่อ ด่วน!!

    ตอบลบ
  2. เห็นด้วยค่ะ ขอบคุณสำหรับบทความและข้อมูลที่มีประโยชน์ แล้วจะติดตามอ่านบทความคุณต่อไปนะคะ

    ตอบลบ