วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตลูกผู้หญิง กับความยุ่งยากในชีวิตแม้เรื่องเล็กๆ เช่น คำนำหน้านาม

ในความเป็นลูกผู้หญิง เมื่อแรกเกิดอาจเป็นความผิดหวังเล็กๆ หรืออย่างมากมายในบางครอบครัว สังคมส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า เพราะถือว่าเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล คือสามารถใช้นามสกุลของพ่อแม่ให้ดำรงต่อไป ในอดีต บางสังคม เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ได้ให้ความสำคัญกับลูกชายมาก โดยถือว่าลูกชายคือ "จักรพรรดิน้อย" ถือเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของครอบครัว ทุกคนในครอบครัวจะให้ความรัก, เอาใจใส่ และเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ แม้แต่แม่ผู้ให้กำเหนิดเด็กชายตัวน้อย ยังพลอยฟ้าพลอยฝน ได้รับการยอมรับยกย่องจากครอบครัวสามี แต่หากคราใดที่กำเหนิดบุตรสาวในครอบครัว ก็ถือเป็นฝันร้ายของผู้เป็นแม่ และความรู้สึกของครอบครัวต่อเด็กหญิงตัวน้อยคือ เธอคือ "น้ำเสีย" ที่รอวันสาดทิ้งเมื่อถึงเวลา นั้นหมายถึงการแต่งงานออกจากครอบครัวนั้นเอง

ไม่ว่าความเชื่อใดในอดีตที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ ความเชื่อ การประพฤติปฏิบัติอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนได้ยินจนชินหูกับคำว่า "สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมเท่าเทียมกัน" ตัวบทกฏหมายที่กล่าวอ้างว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ใช่ แต่ในความเป็นจริงที่ได้ประจักษ์ในสังคม คงไม่ใช่แน่นอน ท่านคงไม่เถียงว่า มีหัวหน้าหน่วยงานชายมากกว่าหญิง หรือในสภาผู้แทนราษฎรมีนักการเมืองชายมากกว่านักการเมืองหญิง ฉะนั้นกฏหมายส่วนใหญ่จึงถูกร่าง และผ่านความเห็นชอบในสภาโดยผู้ชาย และไม่น่าแปลกใจที่กฏหมายบางข้อจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้กำหนดตัวบทกฏหมายขึ้นมา


เด็กน้อยที่เกิดมาเป็นเพศชาย เมื่อเยาว์วัยจะเรียกว่า "เด็กชาย" เมื่ออายุ ๑๕ ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า "นาย" ตลอดไป ไม่ว่าจะโสดตลอดชีวิต แต่งงาน หย่าร้าง หรือใดๆ จะไม่มีใครทราบได้ แต่สำหรับลูกผู้หญิงตัวน้อยจะได้เป็น "เด็กหญิง" เมื่อยังเล็ก โตขึ้นอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป จะเปลี่ยนเป็น "นางสาว" แต่งงานเปลี่ยนเป็น "นาง" เพื่อแสดงสถานะให้สังคมทราบว่า เธอไม่ว่างแล้วนะ หรือบางคนจากเด็กหญิง เปลี่ยนเป็นนางข้ามขั้นตอนไปเลย ทำให้เกิดข้อครหาว่า แต่งงานก่อนวัยอันควร ทำไมสังคมจะต้องกำหนดให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานะ เพื่อจะบอกให้ใครทราบ และใครได้ผลประโยชน์ในส่วนนี้ นี่ยังดีที่ไม่กำหนดให้ เรียก"นางหย่า" สำหรับผู้หญิงที่หย่าร้าง และเรียก "นางม่าย" สำหรับแม่ม่ายที่สามีเสียชีวิต

นาง หรือ นางสาว แต่งงาน หรือไม่แต่งงานสำคัญไฉนกับคำนำหน้านาม ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความดีของบุคคลได้ นาง หรือนางสาวสิทธิที่เลือกได้ โดยใครเป็นคนกำหนด เคยถามผู้ใช้หรือไม่ว่าพอใจที่จะใช้หรือไม่ เคยทำประชามติหรือไม่ เคยคิดหรือไม่ว่าผู้หญิงเสียเวลาขนาดไหนเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงเอกสาร หากบังเอิญโชคชะตาชีวิตเล่นตลกให้ต้องแต่งงานหลายที จะต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับเรื่องเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมามากทีเดียว สู้เอาเวลาไปทำประโยชน์อื่นที่ดีๆ กับสังคมและครอบครัวคงจะดีกว่าไม่น้อย

อย่างไรก้อดี ขอบคุณเหลือเกินที่กฏหมายใหม่ให้สิทธิ์ผู้หญิงในการเลือกใช้คำนำหน้านาม อย่างน้อยนี่ก้อเป็นความก้าวหน้าของสังคม ที่ยอมรับสิทธิสตรีมากขึ้น เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างพัฒนาไปในทางที่ดี หวังว่าสักวัน จะมีคำสักคำ เช่นในอดีตที่เราเคยใช้ "อำแดง" สำหรับหญิงสาวทุกคน ได้ใช้โดยถ้วนทั่วกัน และมีสิทธิใช่คำนำหน้าคำเดียว เช่นที่ สุภาพบุรุษได้ใช้กัน นั้นจะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนอีกตัวหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สังคมมีความเสมอภาคระหว่างเพศที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุบ

กฏหมายเกี่ยวกับการสร้างบ้านพักอาศัย

กฏหมาย คือ "ข้อบังคับที่กำหนดความประพฤติของคนในสังคม" ไม่ว่าเราจะอาศัย ณ แห่งใด ของสังคม เราจะต้องยึดมั่น ถือปฏิบัติตามกฏของสังคมนั้นๆ

กฏหมายย่อมเกี่ยวข้องกับทุกผู้ ทุกนาม ไม่เว้นแม้แต่ ผู้มีอาชีพแม่บ้าน ซึ่งไม่มีงานประจำนอกบ้านอย่างผู้เขียน ยังต้องมีความเกี่ยวข้องจนได้ กล่าวคือ ในช่วงนี้ผู้เขียนกำลังก่อสร้างบ้านใหม่ จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๒ และพระราชบัญัติควบคุมอาคาร ฉบับปรับปรุงแก้ไข ฉบับที่ ๓ ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยมีสาระสำคัญคือ

๑. ควบคุมเรื่องความมั่นคงแข็งแรง

๒. ควบคุมความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคาร

๓. ควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อสังคมและชุมชน

๔. ควบคุมการสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

แนวคิดของของกฏหมายการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เป็นการสร้างเพื่อแสดงถึงอาณาเขตที่เป็นสัดส่วนของบุคคล เป็นเอกสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ และจะต้องไม่ล่วงล้ำกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นเช่น ที่ดินส่วนบุคคล (พื้นที่ข้างเคียง) หรือไปซ้อนทับกับที่สาธารณะของแผ่นดิน



กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักอาศัย

๑. บ้านสูงไม่เกิน ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้างไม่ถึง ๖ เมตร จะต้องถอยตัวอาคารบ้านพัก ห่างจากกึ่งกลางถนน ไม่น้อยกว่า ๓ เมตร

๒. บ้านสูงเกินกว่า ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้างไม่ถึง ๑๐ เมตรจะต้องถอยตัวบ้านพักห่างจากกึ่งกลางถนน ไม่น้อยกว่า ๖ เมตร

๓. บ้านสูงเกินกว่า ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้างขนาด ๑๐-๒๐ เมตร จะต้องสร้างอาคารถอยห่างจากที่ดิน จากเขตที่ดินเป็นระยะ ๑ ใน ๑๐ เท่าของความกว้างถนน

๔. บ้านที่สูงเกินกว่า ๘ เมตร และสร้างบนที่ดินติดถนนกว้าง ๒๐ เมตรขึ้นไป จะต้องสร้างอาคารถอยห่างจากเขตที่ดิน เป็นระยะอย่างน้อย ๒ เมตร

๕. การสร้างบ้านใกล้แม่น้ำ คู คลอง ลำราง ที่แคบกว่า ๑๐ เมตร จะต้องถอยตัวบ้านห่างจากขอบที่ดินอย่างน้อย ๓ เมตร

๖. ถ้าแหล่งน้ำนั้นกว้างกว่า ๑๐ เมตร จะต้องถอยตัวบ้านห่างจาขอบที่ดินอย่างน้อย ๖ เมตร

๗. ถ้าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น บึง ทะเลสาบ หรือทะเล จะต้องถอยให้ตัวบ้านห่างจากขอบที่ดินอย่างน้อย ๑๒ เมตร

๘. หากเป็นสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สะพาน ท่าเรือ อู่เรือ เขื่อน รั้วที่จำเป็นต้องสร้างชิดแหล่งน้ำ ให้ยื่นขออนุญาตต่อทางราชการต่างหาก จากบ้านพักอาศัย

๙. ห้ามสร้างบ้านให้มีส่วนหน่งส่วนใด ยื่นรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินผู้อื่น

๑๐. หากผนังข้างบ้านเป็นช่องเปิดต่างๆ เช่น ประตู หน้าต่าง แนวระเบียง จะต้องถอยร่นจากขอบที่ดินเป็นระยะ ๒ เมตร (สำหรับชั้นหนึ่งและชั้นสอง) และถอยเป็นระยะ ๓ เมตรสำหรับชั้นสาม

๑๑. หากผนังข้างบ้านเป็นผนังทึบ และมีความสูงไม่เกิน ๑๕ เมตร ให้เว้นระยะไว้อย่างน้อย ๕๐ เซ็นติเมตร หรือถ้าต้องการสร้างผนังให้ไปจนชิดแนวขอบจริงๆ ต้องให้เพื่อนบ้านเซ็นต์ยินยอมเสียก่อน เนื่องจากเวลาก่อสร้างนั้น ช่างอาจต้องวางนั่งร้าน เพื่อทาสีฉาบปูนในเขตที่ดินของเพื่อนบ้าน (หากพื้นที่ใช้สอยรวมแล้วกว้างกว่า ๓๐๐ ตารางเมตร จะต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย ๑ เมตร โดยทุกกรณี)

๑๒. กรณีที่บ้านสูงเกิน ๑๕ เมตร จะต้องให้ผนังทึบ ถอยห่างจากขอบที่ดินอย่างน้อย ๕๐ เซ็นติเมตร (หากพื้นที่ใช้สอยรวมแล้วกว้างกว่า ๓๐๐ ตารางเมตร ห้ามสร้างชิดเด็ดขาด)

๑๓. การปลูกสร้างบ้านพักอาศัยบนที่ดินนั้น ตามกฏหมายกำหนดให้เปิดเป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ โดย ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อการก่อสร้างบ้านพักอาศัย (ที่ว่างหมายถึง พื้นที่อันปราศจากสิ่งปกคลุม ซึ่งอาจจัดเป็นบ่อน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อพักน้ำเสีย ที่พักขยะมูลฝอย เป็นต้น)


ที่มา; ข้อมูลธนาคารอาคารสงเคราะห์, บ้าน สวน สบาย