วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตลูกผู้หญิง กับความยุ่งยากในชีวิตแม้เรื่องเล็กๆ เช่น คำนำหน้านาม

ในความเป็นลูกผู้หญิง เมื่อแรกเกิดอาจเป็นความผิดหวังเล็กๆ หรืออย่างมากมายในบางครอบครัว สังคมส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า เพราะถือว่าเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล คือสามารถใช้นามสกุลของพ่อแม่ให้ดำรงต่อไป ในอดีต บางสังคม เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ได้ให้ความสำคัญกับลูกชายมาก โดยถือว่าลูกชายคือ "จักรพรรดิน้อย" ถือเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของครอบครัว ทุกคนในครอบครัวจะให้ความรัก, เอาใจใส่ และเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ แม้แต่แม่ผู้ให้กำเหนิดเด็กชายตัวน้อย ยังพลอยฟ้าพลอยฝน ได้รับการยอมรับยกย่องจากครอบครัวสามี แต่หากคราใดที่กำเหนิดบุตรสาวในครอบครัว ก็ถือเป็นฝันร้ายของผู้เป็นแม่ และความรู้สึกของครอบครัวต่อเด็กหญิงตัวน้อยคือ เธอคือ "น้ำเสีย" ที่รอวันสาดทิ้งเมื่อถึงเวลา นั้นหมายถึงการแต่งงานออกจากครอบครัวนั้นเอง

ไม่ว่าความเชื่อใดในอดีตที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ ความเชื่อ การประพฤติปฏิบัติอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนได้ยินจนชินหูกับคำว่า "สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมเท่าเทียมกัน" ตัวบทกฏหมายที่กล่าวอ้างว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ใช่ แต่ในความเป็นจริงที่ได้ประจักษ์ในสังคม คงไม่ใช่แน่นอน ท่านคงไม่เถียงว่า มีหัวหน้าหน่วยงานชายมากกว่าหญิง หรือในสภาผู้แทนราษฎรมีนักการเมืองชายมากกว่านักการเมืองหญิง ฉะนั้นกฏหมายส่วนใหญ่จึงถูกร่าง และผ่านความเห็นชอบในสภาโดยผู้ชาย และไม่น่าแปลกใจที่กฏหมายบางข้อจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้กำหนดตัวบทกฏหมายขึ้นมา


เด็กน้อยที่เกิดมาเป็นเพศชาย เมื่อเยาว์วัยจะเรียกว่า "เด็กชาย" เมื่ออายุ ๑๕ ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า "นาย" ตลอดไป ไม่ว่าจะโสดตลอดชีวิต แต่งงาน หย่าร้าง หรือใดๆ จะไม่มีใครทราบได้ แต่สำหรับลูกผู้หญิงตัวน้อยจะได้เป็น "เด็กหญิง" เมื่อยังเล็ก โตขึ้นอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป จะเปลี่ยนเป็น "นางสาว" แต่งงานเปลี่ยนเป็น "นาง" เพื่อแสดงสถานะให้สังคมทราบว่า เธอไม่ว่างแล้วนะ หรือบางคนจากเด็กหญิง เปลี่ยนเป็นนางข้ามขั้นตอนไปเลย ทำให้เกิดข้อครหาว่า แต่งงานก่อนวัยอันควร ทำไมสังคมจะต้องกำหนดให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานะ เพื่อจะบอกให้ใครทราบ และใครได้ผลประโยชน์ในส่วนนี้ นี่ยังดีที่ไม่กำหนดให้ เรียก"นางหย่า" สำหรับผู้หญิงที่หย่าร้าง และเรียก "นางม่าย" สำหรับแม่ม่ายที่สามีเสียชีวิต

นาง หรือ นางสาว แต่งงาน หรือไม่แต่งงานสำคัญไฉนกับคำนำหน้านาม ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความดีของบุคคลได้ นาง หรือนางสาวสิทธิที่เลือกได้ โดยใครเป็นคนกำหนด เคยถามผู้ใช้หรือไม่ว่าพอใจที่จะใช้หรือไม่ เคยทำประชามติหรือไม่ เคยคิดหรือไม่ว่าผู้หญิงเสียเวลาขนาดไหนเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงเอกสาร หากบังเอิญโชคชะตาชีวิตเล่นตลกให้ต้องแต่งงานหลายที จะต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากับเรื่องเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมามากทีเดียว สู้เอาเวลาไปทำประโยชน์อื่นที่ดีๆ กับสังคมและครอบครัวคงจะดีกว่าไม่น้อย

อย่างไรก้อดี ขอบคุณเหลือเกินที่กฏหมายใหม่ให้สิทธิ์ผู้หญิงในการเลือกใช้คำนำหน้านาม อย่างน้อยนี่ก้อเป็นความก้าวหน้าของสังคม ที่ยอมรับสิทธิสตรีมากขึ้น เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างพัฒนาไปในทางที่ดี หวังว่าสักวัน จะมีคำสักคำ เช่นในอดีตที่เราเคยใช้ "อำแดง" สำหรับหญิงสาวทุกคน ได้ใช้โดยถ้วนทั่วกัน และมีสิทธิใช่คำนำหน้าคำเดียว เช่นที่ สุภาพบุรุษได้ใช้กัน นั้นจะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนอีกตัวหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สังคมมีความเสมอภาคระหว่างเพศที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุบ

1 ความคิดเห็น: